๑. เกาะโลมาสีน้ำเงิน
ชื่อหนังสือ : เกาะโลมาสีน้ำเงิน (Island of the Blue Dolphins)
หมวด : วรรณกรรม -- วรรณกรรมเยาวชน
ผู้แต่ง : Scott O Dell
ผู้แปล : วิลาวัณย์ ฤดีศานต์
จัดพิมพ์โดย : สนพ.มติชน พิมพ์ครั้งที่ ๕ : สำนักพิมพ์มติชน พฤศจิกายน ๒๕๔๗ กระดาษปอนด์เหลือง ปกอ่อน
จำนวนหน้า : 192 หน้า
ISBN : 974-322-866-7 " เกาะโลมาสีน้ำเงิน " แปลมาจาก Island of the Bule Dolphins แปลแล้วกว่า ๒๓ ภาษาทั่วโลก ๑ ใน ๑๐ วรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยมในรอบ ๒๐๐ ปี สมาคมวรรณกรรมเยาวชนอเมริกา
รายละเอียดในมหาสมุทรแปซิฟิก มีเกาะอยู่แห่งหนึ่งมีรูปร่างเหมือนปลาตัวโตนอนอาบแดดอยู่ในทะเล รอบเกาะแห่งนี้มีโลมาสีน้ำเงิน นากทะเล แมวน้ำช้าง และนกทะเลมากมาย ครั้งหนึ่งชาวอินเดียนแดงเคยอาศัยอยู่ที่นี่ แต่เมื่อพวกเขาอพยพออกจากเกาะไปอยู่ในที่แห่งใหม่ทางทิศตะวันออก เด็กผู้หญิงคนหนึ่งถูกทิ้งไว้
นี่เป็นเรื่องราวของการานา เด็กหญิงชาวอินเดียนแดงที่อาศัยอยู่บนเกาะโลมาสีน้ำเงินคนเดียวเป็นเวลาหลายปี ปีแล้วปีเล่า เธอเฝ้าดูฤดูกาลผันผ่านและเฝ้าคอยให้เรือมารับเธอ แต่ตลอดเวลาที่อยู่บนเกาะ เธอต้องสร้างที่พัก ทำอาวุธ หาอาหาร และต่อสู้กับหมาป่า ชีวิตของเธอไม่เพียงเป็นการผจญภัยเพื่อการอยู่รอดที่น่าประทับใจ แต่ยังเป็นเรื่องราวที่แสดงความงดงามของธรรมชาติและการค้นพบสิ่งสำคัญในชีวิต
๒. เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม
เล่มนี้ได้รับการแนะนำจากน้องคนหนึ่งซึ่งอ่านวรรณกรรมเยาวชนเป็นหลัก ส่วนทางผมก็แนะนำหนังสือวรรณกรรมเยาวชนเล่มโปรดของผมไปนั่นคือ เกาะโลมาสีน้ำเงิน สุดท้ายการแลกเปลี่ยนหนังสือก็เกิดขึ้นผมได้รับมาสองเล่มคือ เล่มนี้ และ เทวดาที่โหล่ ส่วนผมเอาเกาะโลมาสีน้ำเงิน และ คิระ คิระ ไปแลก โดยแถม ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ ของหนุ่มเมืองจันท์ ไปอีกเล่มเผื่อจะชอบเล่มนี้มีรางวัลซังเคเป็นเครื่องรับประกัน โดยรางวัลนี้น่าจะเป็นรางวัลเรื่องยอดนิยมของวัยรุ่นญี่ปุ่น จัดอยู่ในกลุ่ม Warm Heart ของ สำนักพิมพ์ JBook ได้มาก็เริ่มอ่านเลยคืนนั้น อ่านไปได้หนึ่งในสามเล่มในคืนแรก อีกสองวันก็อ่านจบ เป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียว แต่ไม่ค่อยชอบในช่วงแรกตรงเป็นเรื่องของการฆ่าตัวตาย โดยตัวเอกคือ เด็กชายโคบายาชิ มาโคโตะ อายุ ๑๔ ปี อยู่มอ ๓ ที่มีปัญหาชีวิตจนต้องกินยานอนหลับฆ่าตัวตาย เนื่องจากพ่อเห็นแก่ตัว แม่ตกงาน พี่ชายเย็นชา หนำซ้ำสาวที่ตนชอบก็มีพฤติกรรมน่าละอาย และ เพื่อนก็ไม่มีใครคบ โดยคืนสุดท้ายก่อนทานยา ทุกคนต่างแสดงสิ่งทำให้มาโคโตะต้องตัดสินใจฆ่าตัวตายในคืนสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นพ่อ, แม่ และ สาวคนที่ตนชอบแต่สวรรค์ก็เล่นตลก ล้างสมองมาโคโตะ แล้วปล่อยกลับมาเกิดอีกครั้งในร่างเดิมโดยไม่บอกเจ้าตัวที่เป็นวิญญานว่าตัวเองเป็นใคร เพียงแต่บอกว่าให้เกิดในร่างมาโคโตะ เป็นโฮมสเตย์แล้วหาทางระลึกชาติและแก้บาปที่ตัวเองสร้างเอาไว้ จากนั้นก็จะกลับมาเตรียมพร้อมเกิดใหม่ สิ่งที่วิญญานเรียนรู้คือคนรอบข้างของมาโคโตะที่เดิมคิดว่าไม่ดี ล้วนมีเหตุผลและด้านดีในการกระทำ เนื่องจากการฟื้นของมาโคโตะทำให้ทุกคนรอบข้างเหล่านั้นรีบแสดงตัวตนออกมา และวิญญานที่คิดว่าตนเป็นคนนอกจึงสัมผัสได้อย่างง่ายดาย แถมยังคิดว่ามาโคโตะควรจะรู้เรื่องพวกนี้อีกด้วย สรุปแล้วทุกคนไม่ได้ไม่ดีเสียทั้งหมด หากเราพิจารณาและเข้าใจถ่องแท้จะเห็นด้านดีของแต่ละคน เรื่องนี้ภาษาอังกฤษชื่อ Colorful เนื่องจากอยากให้มองคนในหลายมุมจะได้สีมากขึ้น มากกว่าสีดำและสีขาวจนสุดท้ายมาโคโตะก็สามารถระลึกชาติได้ และก็รู้ว่าตัวเองคือวิญญานของมาโคโตะ และบาปคือเป็นฆาตกรฆ่าตัวเอง เรื่องไม่จบแค่นั้น มาโคโตะเริ่มกลัวที่จะเป็นตัวเอง เพราะเขามองอย่างคนนอกมาโดยตลอด ปูระปูระซึ่งเป็นเทวดานำทางก็ให้คำเด็ด คือ "คิดเสียว่าไปโฮมสเตย์อีกครั้งแล้วกันครับ" "ถ้าคุณไปอยู่ในโลกข้างล่างแล้วรู้สึกทุกข์ใจ ลองนึกถึงช่วงระยะเวลาสี่เดือนของการแก้ตัว นึกถึงความรู้สึกว่าคุณทำอะไรได้โดยอิสระ ไม่ต้องผูกมัดตัวเองด้วยมือตัวเอง รวมทั้งนึกถึงผู้คนที่ได้ช่วยเหลือคุณไว้ด้วย" ผมถือว่าคำนี้เป็นคำสำคัญเพราะตอนเป็นโฮมสเตย์ วิญญานทำอะไรก็ได้ ไม่ยึดติด เพราะคิดว่าเป็นเรื่องของคนอื่น เงินของมาโคโตะวิญญานก็นำไปซื้อรองเท้าอย่างไม่เสียดาย แต่กลับเสียดายเมื่อรู้ว่าตัวเองคือมาโคโตะ ดังนั้นหากเราสามารถมองตัวเองอย่างคนอื่นได้ การยึดมั่นถือมั่นจะไม่มี เหมือนการแยกจิตออกมามองร่างตัวเอง เราจะรู้ว่าร่างกาย และ สิ่งที่เรามีอยู่ในปัจจุบันเป็นเพียงสิ่งที่เรายืมมาใช้เท่านั้นสิ่งหนึ่งที่เห็นในสังคมญี่ปุ่นที่ไม่ดี เช่นความฟุ้งเฟ้อของเด็กผู้หญิงมอสองจนต้องทำอะไรที่ไม่น่าทำ แต่ก็เป็นความจริงในสังคมปัจจุบัน เริ่องเขียนดีมากและให้แง่คิดที่ดี คนที่เหมาะจะอ่านเรื่องนี้ที่สุดคือคนซึมเศร้า และ กำลังคิดจะฆ่าตัวตายครับ เผื่อจะล้มเลิกความคิด หากเขาหัดเป็นคนอื่นที่มองตัวเองและไปโฮมสเตย์ในบ้านตัวเองดูบ้าง
๓. โต๊ะ โตะ จัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง
มุกเด็ดๆ จากหนังสือโต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง
เมื่อวานได้หนังสือ นางสาวโต๊ะโตะ มา เลยนึกถึงโต๊ะโตะจังขึ้นมา มีมุกมากมายที่เอาไปใช้เลี้ยงลูกได้ เช่น
1. การฟังลูกพูดเป็นเวลานานๆ เหมือนคุณครูใหญ่ฟังโต๊ะโตะจัง 4 ชั่วโมงในวันแรกที่พบกัน เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรฝึก
2. การให้เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงชั้น ป.1 แก้ผ้าอาบน้ำในสระเพื่อให้เห็นสรีระและความแตกต่างกันระหว่างเพศ
3. การกางเต้นท์ในหอประชุม (เราเอามากางในบ้านก็ได้)
4. การเอาตู้รถไฟเก่ามาทำห้องเรียน (เราสร้างบรรยากาศได้)
5. การร้องเพลงเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกินข้าว ได้ทั้งความสนุก และสอนเรื่องการเคี้ยว
6. การกินอาหารให้ครบด้วยคำว่า อาหารจากทะเล (ปลา และของแห้งต่างๆ เช่น กุ้ง, หอย และปลาตัวเล็กๆ ต้มกับซีอิ้วและน้ำตาล เคี่ยวจนงวด เก็บไว้รับประทานได้นาน) กับ อาหารจากภูเขา (ผัก, เนื้อสัตว์)
7. เริ่มเรียนวิชาอะไรก็ได้ในแต่ละวัน โดยครูเขียนรายการวิชาในกระดาน แล้วเด็กลำดับการเรียนเอาเอง แต่ให้ครบ ใครติดอะไรไปถามครู (Child Center ใช่ไหมเนี่ย)
8. มีการเรียนวิชา "ประกอบจังหวะ" ของ ดัลโครซ (ซึ่งคงต้องหาข้อมูลต่อ)ส่วนอื่นๆ ที่ประทับใจเช่นการช่วยเพื่อนที่พิการปีนต้นไม้น่าอ่านมากสำหรับ โต๊ะโตะจังฯใครมีจุดประทับใจอื่น เล่าให้ฟังกันบ้างครับ
จบครับสำหรับหนังสือเล่มโปรด มีเล่มไหนโปรดปราน บอกกันบ้างนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น