วันอาทิตย์ที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

7 เรื่องสั้นของฟ้า หนังสือดีๆ ที่ต้องบอกต่อ (LIF#3)



เล่มที่ ๓ แล้วสำหรับโครงการ LIF ผมเพิ่งสังเกตนะว่าส่วนใหญ่ในโครงการเป็นผู้หญิง และเท่าที่ดูใน Bloggang ก็จะเป็นผู้หญิงเสียส่วนใหญ่ หรือผู้หญิงชอบการขีดเขียนมากกว่าผู้ชาย

มาว่ากันเล่มนี้สรรพคุณมากมายเหลือเกิน เจ้าของหนังสือคือ คุณสาวไกด์ใจซื่อ จัดให้เป็นเล่มโปรดในปี ๒๕๔๙ ของเขาเลยทีเดียว คนที่อ่านต่อมาคือ คุณยาคูลท์ ก็ชื่นชมเล่มนี้เช่นกัน ทั้งสองคนฝากลายมือไว้ในกระดาษ สอดไว้ในเล่มด้วย ใครยืมต่อเล่มนี้จะเห็นลายมือผมอีกคน เพิ่มความน่าสนใจในการยืมขึ้นบ้างไหม (ฮา)

จริงๆ แล้วผมรู้จักหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกจากการแนะนำของ คุณเอื้อ อัญชลี ในหนังสือสามก๊กฉบับคนกันเอง ในบทความชื่อ ชามใบเดียวไร้เสียง ชามสองใบเสียงดังติงตัง ซึ่งคำนี้สะท้อนแนวการทำงานของคุณฟ้า พูลวรลักษณ์ คุณเอื้อฯ บอกไว้ว่า "คุณฟ้ามีกระบวนการที่น่าสนุก เพราะเขาจะมีสภา ๘ คนคอยอ่านงานของเขาและให้คำวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ทำให้หนึ่งความคิดของเขาได้ปะทะกับอีก ๘ ความคิด
คุณฟ้ามีสภาตั้ง ๘ คน เป็นปัญญาชน ๔ คน และเป็นชาวบ้าน ๔ คน เหมือนมีชามตั้ง ๘ ใบ เสียงดังเคร้งคร้างสนุกไปเลย"
และท้ายสุด คุณเอื้อฯ ก็เป็นชามใบหนึ่งในสภาของคุณฟ้าด้วย ทำให้เห็นความงดงามของการแข่งขันต่อสู้ เธอบอกว่า หากไม่มีการแข่งขัน จะไม่มีการเรียนรู้ ไม่มีการพัฒนาตัวเอง และไม่สร้างสิ่งใหม่
การเข้าร่วมสภานี้พบว่าเป็นบรรยากาศของการสร้างสรรค์ที่สนุกสนาน
อ่านแล้วอิจฉา คุณเอื้อฯ ตะหงิดตะหงิด

ผมจัดเรื่องสั้นในเล่มนี้เป็นเรื่องสั้นขนาดยาว คนเขียนลักษณะนี้ที่จำได้คือ กนกพงศ์ สงสมพันธ์ ผู้ล่วงลับ แต่เล่มนี้ไม่เครียดเท่า ดำเนินเรื่องเรื่อยๆ ภาษาง่ายๆ ค่อยๆ กินใจ อ่านแล้ววางไม่ลงเลยทีเดียว

เรื่องที่ชอบมากคือ แพรว ซึ่งอ่านง่ายที่สุด, ส่วน นางฟ้า จบแบบหนังฝรั่งเลย, สู้เขาสิ อ้อ ก็แสดงความงดงามของการแข่งขัน, เพื่อนของนิพัทธ์ ทำให้นึกถึงชีวิตสงบในบั้นปลายชีวิต และท้ายสุดมีคำคมจากเรื่อง เด็กชายปกรณ์กับเด็กหญิงปกรณ์
"ใครคนหนึ่งบอกว่า กิเลนเป็นสัตว์หายากในโลก มันจึงสามารถเดินเข้ามาในตลาด โดยไม่มีใครสังเกตเห็น
ดวงตามนุษย์คุ้นเคยกับสิ่งที่เคยเห็น เมื่อเจอสิ่งที่ไม่เคยเห็น สิ่งนั้นก็จะกลายเป็นสิ่งล่องหน"
หวังว่าเราคงไม่ถูกมองว่าเป็นสิ่งล่องหนหรอกนะ

อีกสองเรื่องไม่โดนใจมาก แต่ก็อ่านสนุกทีเดียว

ในประวัติของ คุณฟ้า พูลวรลักษณ์ พูดถึงสำนักแคนโต้ที่เขาเป็นเจ้าของ คุณยาคูลท์บอกไว้ว่าแคนโต้ เป็นบทกวีชนิดหนึ่ง ใครมีรายละเอียดเพิ่มอีก ช่วยบอกที

สรุปว่าหากคุณเป็นนักอ่าน ต้องอ่านเล่มนี้ รับรองไม่ผิดหวังครับ

ปล.อยากรู้ว่า LIF คืออะไร ลงกดไปที่ http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=amp-atom&group=9