ผู้เขียน : ทรงกลด บางยี่ขัน
สำนักพิมพ์ : a book
จำนวนหน้า : ๒๑๖ หน้า
ราคา : ๒๐๕ บาท
ระดับความชอบ : ๘.๕/๑๐
ได้หนังสือเล่มนี้จาก http://www.coolswop.com
ผู้เขียนเป็น บก. ของ a day นิตยสารช่างคิดเล่มนี้ ผมมักจะได้ไอเดียจากหนังสือเล่มนี้เสมอเลยครับ เวบแลกของ http://www.coolswop.com ก็ได้มาจากนิตยสาร a day นี่แหละครับ
บนปกเขียนไว้ว่า “๕๐ วิธีดูแลโลกจากประเทศใกล้ชิดธรรมชาติ สนิทวัฒนธรรมเก่า ไฮเทค สร้างสรรค์ มุ่งมั่น และขี้เล่น ที่สุดในโลก”
ในเวบ Coolswop เจ้าของเดิมเขียนไว้ว่า “คุณจะได้รับรู้ถึงพลังงานและแรงบันดาลใจในรูปแบบที่คุณคุ้นเคย แต่โชยด้วยกลิ่นของโชยุและวาซาบิ เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องราว และความคิดสร้างสรรค์ของชาวญี่ปุ่นล้วน ๆ แต่ถูกนำมาปรุงด้วยรสชาติต่างๆ ทางตัวหนังสืออันกลมกล่อมละมุนละไม ใส่ความห่วงใยและเจตนาที่ดีต่อทุกสิ่งและทุกชีวิตรอบตัวลงไปคลุกเคล้า กลายเป็นฟิวชั่นจานเด็ดที่อยากใกล้สองตา หนึ่งสมองและหนึ่งใจ ของผู้อ่านทุกท่านได้สำผัสดู”
ผมเคยอ่านหนังสือของคุณทรงกลดมาแล้ว ๑ เล่ม คือ นายเท้าซ้าย เด็กชายเท้าขวา
ต้องบอกว่าเกือบทุกเรื่องโดนใจครับ เพราะแนวของเล่มนี้เป็นแนวรักษ์โลก แต่เป็นแบบน่ารักๆ ของคนญี่ปุ่น
เปิดเล่มก็เอาเรื่องลูกระนาดบนท้องถนนที่เอาไว้เพื่อลดความเร็ว มีคนค้นพบว่าสามารถทำให้เกิดเสียงดนตรีได้ แต่ต้องความเร็วที่เหมาะสม ก็เลยกำหนดความเร็วที่จะได้ยินเสียงดนตรีไว้ข้างถนน ซึ่งจะเป็นความเร็วที่ชะลอแล้ว หากอยากได้ยินเสียงดนตรีจากลูกระนาดก็ลดความเร็วเอา เป็นการชักชวนให้ขับช้าที่น่ารักมาก ตามสไตล์ญี่ปุ่นเลยครับ
บางที่อ่านแล้วต้องจด เผื่อเอาคู่รักไปเยือนบ้าง นั่นคือเมืองยูบะริที่ตอนแรกไม่มีจุดขายในเรื่องการท่องเที่ยวเลย แต่เมืองนี้มีอัตราการหย่าร้างน้อยที่สุดในญี่ปุ่นเลยออกจุดขาย
Yubari, no money but love. ยูบะริ ฟุไซ, ฟุไซ แปลว่า หนี้สิน หรือ คู่สมรส
ทุกอย่างในมืองนี้จะออกแนวคู่รัก ทั้งที่เที่ยว ของที่ระลึก ดังนั้นเหมาะกับคู่รักทีเดียว
Konohana Family จะเป็นชุมชนของคนทำการเกษตรอินทรีย์ที่ทำออกมาเป็นรูปธรรม น่าสนใจมาก ลองอ่านรายละเอียดได้ที่นี่ครับ
http://www.konohana-family.org/files/welcome3rd_e.pdf
ปัจจุบันมีการนำฟุโระฌิกิ ผ้าห่อกล่อง กลับมาเพื่อลดการห่อของขวัญด้วยกระดาษ เพราะผ้าห่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และเป็นเทคนิคของญี่ปุ่นที่มีมาตั้งแต่โบราณ
ร้านขายเสื้อผ้า UNIQLO ที่เข้ามาในเมืองไทยปัจจุบันก็มีการรับเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วมาจัดการต่อให้
มีการศึกษา Slow Business School โดยให้ไปอยู่ที่ตำบลทะกะวะ จังหวัดฟูกูโอกะ วิถีชีวิตเนิบช้าและเป็นทางเลือกโดยแท้จริง เข้าเรียนแล้วอาจจะนึกขึ้นได้ว่าชีวิตต้องการอะไร
หรือการยืมร่มแล้วเอามาคืนแล้วได้เงินไปอีก จะได้ไม่ต้องมีขยะเป็นร่มไม่ใช้แล้วจำนวนมาก มีองค์กรอิสระที่สนับสนุนโครงการเชิงอนุรักษ์แบบนี้เป็นรูปธรรมนะครับที่ประเทศเขา
นับเป็นเล่มที่ทำให้ยิ่งชอบวิถีของญี่ปุ่นมากขึ้นไปอีก เพราะเขาช่างสังเกต ไม่หยุดคิด คิดไปเรื่อย ทดลองทำ จนได้แนวทางน่ารักๆ ขึ้นมาเสมอ
โลกเราโดนทำร้ายมาพอแล้วครับ หยุดทำร้ายโลกได้แล้ว หยุดตัดต้นไม้ได้แล้วครับ เราพัฒนามาเพียงพอแล้ว อยู่กับโลกกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตร อย่างที่เขาเป็น แล้วเราจะอยู่กันได้โดยสันติครับ
หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะจุดประกายการรักษ์โลกให้เจิดจ้ามากขึ้นนะครับ
เริ่มที่ตัวเรานี่แหละครับ โลกอ้าแขนรอเราอยู่
มีความสุขทุกคนครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น