วันเสาร์ที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว

เกษตรกรรมนำสู่นิพพาน




ผู้เขียน : มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ
ผู้แปล : รสนา โตสิตระกูล
สำนักพิมพ์ : มูลนิธิโกมลคีมทอง
จำนวนหน้า : 224 หน้า
ราคา : 200 บาท
ระดับความชอบ : 9.5/10

เป็นหนังสือที่อยู่ใน Waiting List มานานพอสมควร พยายามหามาตลอด จนได้เจอครั้งแรกที่ร้านเล่า ณ เชียงใหม่
แต่ครั้งนั้นไม่ได้ซื้อ เพราะยังรับไม่ได้กับการซื้อหนังสือเต็มราคา และกำลังทะเลาะกับเพื่อนที่ไปด้วย
ครั้งต่อมาที่ได้ไปเยือนร้านเล่าแบบ ชิล ชิล เวลาเหลือเฟือ ทำใจเรื่องราคาหนังสือมาแล้ว
แล้วหนังสือเล่มนี้ก็มาอยู่ในมือ พร้อมด้วยหนังสือเล่มอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง
วันนั้นสอบถามคนขายถึงเล่มโน้นเล่มนี้ เธอก็ไปหยิบและแนะนำเป็นอย่างดี
ชอบตอนที่ถามถึงเล่ม หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว คนขายบอกว่าลองหาหนังสือมือสองดีกว่าไหมพี่ ถูกกว่ากันเยอะเลย จริงใจดีครับ
สาเหตุสำคัญอีกอย่างที่สนใจหนังสือเล่มนี้เพราะชื่อของผู้แปลครับ เธอเป็นคนดีในดวงใจผมเสมอมา

ในเล่มนี้ผู้เขียนบอกเล่าเรื่องราวการทำการเกษตรธรรมชาติซึ่งไม่ใช่แค่ไม่ใช้ยาปราบศัตรูพืชหรือสารเคมีเท่านั้น แต่รวมไปถึงการไม่ไถพลิกดินด้วย เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จก็เอาฟางที่ไม่ได้สับปูบนผืนนาเพื่อทำปุ๋ยไปเลย
การทำแบบนี้ทำให้เกษตรกรมีเวลาว่าง และเมื่อถึงจุดสมดุลผลผลิตก็ไม่ต่างจากการเกษตรแบบปัจจุบันที่ไถพลิกดินและใช้สารเคมี ทุกอย่างผู้เขียนทำด้วยตนเองเป็นการพิสูจน์

คุณฟูกูโอกะเคยเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับพืชมาก่อน และได้นำประสบการณ์ช่วงนั้นมาปรับใช้กับเกษตรธรรมชาติที่เขามาทดลองทำเอง

แนวคิดของการทำการเกษตรของผู้เขียน เกษตรกรต้องมีเวลาว่างหาความสุข มีเวลาเขียนกาพย์กลอน วาดรูป ไม่ใช่ต้องมาคร่ำเคร่งตลอดทั้งปี
ปัญหาเกิดจากการพัฒนาไปสู่ทุนนิยม ทำให้ต้องลดจำนวนของเกษตรกร เลยต้องทำให้ผลผลิตของเกษตรกรต่อคนสูงขึ้น จึงต้องทำนาปีละหลายครั้งขึ้นและใช้สารเคมีเข้าช่วย
ต้องถือเป็นความผิดพลาดในการพัฒนาประเทศหรือของโลกเลยทีเดียว

คุณฟูกูโอกะบอกอีกว่าให้ปลูกในสิ่งที่เราจะเอามากิน ที่เหลือค่อยนำไปขาย ไม่ใช่ปลูกเพื่อไปขายแล้วค่อยมาซื้อกิน
เหมือนกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงเลย

ในเกษตรธรรมชาติ ธรรมชาติจะควบคุมศัตรูพืชกันเอง และจะเกิดสมดุล

อาหารคือชีวิต และชีวิตต้องไม่เดินถอยห่างจากธรรมชาติ 
อย่ากินอาหารด้วยสมอง 
ให้กำจัดจิตที่แบ่งแยกออกมาจากธรรมชาติ
อาหารต้องอิงตามที่มีอยู่ในฤดูกาลต่างๆ การปลูกพืชนอกฤดูกาลเป็นการฝืนธรรมชาติ
หลักโภชนาการที่นำมาจากตะวันตกทำให้ต้องตุนอาหาร และต้องมีอาหารหลายชนิดตลอดปี ซึ่งตามธรรมชาติเป็นไปไม่ได้ เช่น เนื้อสัตว์
ดังนั้นเราควรดูก่อนว่าในแต่ละฤดูกาลปลูกอะไรได้บ้าง แล้วค่อยวางแผนบริโภค
ผู้เขียนมีผังอาหารตามฤดูกาลให้ และบอกอีกว่าหากไปศึกษาแล้วต่างจากนี้ ก็ให้ใช้สิ่งที่ตนศึกษาเป็นสรณะ
ไม่ให้ยึดติดอีกต่างหาก เยี่ยมจริงๆ

ผู้เขียนยกตัวอย่างการเลี้ยงไก่แบบปล่อย การปลูกผลไม้แบบธรรมชาติ จะให้ผลผลิตที่อร่อยกว่า ไข่แดงของไข่ไก่จะแดงกว่า

ผู้เขียนตั้งคำถามในตอนท้ายเล่ม ในแนวนี้
ทำไมต้องเติบโต? เติบโต 0% แต่มีของกินจะเป็นอะไร?
ทำไมต้องใช้สารเคมี?
ทำไมต้องทำนาปีละ 3 ครั้ง? 

มีการพูดถึงนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามอธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ ของธรรมชาติ
เขาบอกว่า บทบาทของนักวิทยาศาสตร์เหมือนเป็นผู้แบ่งแยกจิตของคุณออกจากธรรมชาติ

ที่ปกหลังเขียนไว้ว่า
ฟูกูโอกะเชื่อว่าเกษตรกรรมธรรมชาติสืบสายมาจากสภาวะแห่งความไพบูลย์ทางจิตวิญญาณของปัจเจกบุคคล เขาถือว่าการบำรุงรักษาผืนแผ่นดินและการชำระจิตใจของมนุษย์ให้บริสุทธิ์เป็นกระบวนการเดียวกัน
เขากล่าวว่า "เป้าหมายสูงสุดของเกษตรกรรมไม่ใช่การเพาะปลูกพืชผล แต่คือการบ่มเพาะความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์" และด้วยเหตุที่เราไม่อาจแยกด้านใดด้านหนึ่งของชีวิตออกจากด้านอื่นๆ เมื่อเราเปลี่ยนแปลงลักษณะอาหาร เปลี่ยนแปลงลักษณะสังคม และเปลี่ยนแปลงค่านิยมของเราไปด้วย 


ดังนั้นหากเราเปลี่ยนแปลงธรรมชาติน้อยที่สุด เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ธรรมชาติก็ไม่กระทบและไม่เปลี่ยนแปลง จิตวิญญาณเราก็จะเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
เมื่อธรรมะคือธรรมชาติ
การทำเกษตรธรรมชาติก็คือการปฏิบัติธรรม และเป็นหนทางไปสู่การหลุดพ้นนั่นเอง


ไม่ใช่แค่ทำการเกษตร แต่เป็นทางสายเอกสู่นิพพาน
ยิ่งใหญ่จริงๆ ครับคุณฟูกูโอกะ


มีความสุขทุกคนครับ

ไม่มีความคิดเห็น: