กำกับ : David Gelb
นำแสดง : Jiro Ono, Sukiyabashi Ono
ความยาว : 81 นาที
ระดับความชอบ : 8.5/10
เป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับร้านซูชิ ที่ Tokyo subway station ประเทศญี่ปุ่น
คนทำซูชิอายุ 85 ปีแล้วแต่ยังนอนฝันถึงเมนูใหม่ๆ ของซูชิ จนต้องตื่นมาจดตอนกลางดึกบ่อยครั้ง
ชีวิตเขาทำงานหนักเพื่อซูชิและลูกค้ามาตลอด
ในหนังมีเรื่องตลกว่า วันหนึ่งตอนลูกยังเล็ก Jiro กลับมาบ้านตอนกลางวัน ลูกวิ่งไปบอกแม่ว่าใครก็ไม่รู้มานอนที่บ้านเรา เพราะ Jiro ออกจากบ้านตั้งแต่เช้าและกลับมาลูกๆ ก็หลับแล้ว เขาตั้งใจทำงานมาก
นอกจากราคาแพงระดับสามหมื่นเยนและต้องจองนานเป็นเดือน สิ่งที่เป็นเครื่องรับประกันความอร่อยคือได้รับคัดเลือกจาก Michelin Review ที่ได้ระดับ 3 ดาว ที่หมายความว่าเป็นร้านที่คุ้มค่าในการเดินทางไปทานไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดของโลก
หนังมาเฉลยตอนหลังว่าตอนคณะของ Michelin มาทาน คนที่ทำซูชิให้ทานเป็นลูกชายของ Jiro ไม่ใช่ตัวเขา แสดงว่าแค่ลูกก็ผ่านมาตรฐานแล้ว ร้านนี้ยังน่าจะมีอยู่ต่อไปอีกรุ่นเป็นอย่างน้อย
ตัวละครหลักๆ นอกจากคุณ Jiro แล้วก็จะมีลูกชายคนโตที่จะรับช่วงร้านนี้ต่อ
ลูกชายคนน้องที่ไปเปิดร้านใหม่ เพราะร้านเดิมของพ่อจะต้องเป็นของพี่ชาย
พ่อครัวคนที่เคยทำงานในร้านซูชิ
นักชิมชาวญี่ปุ่น ที่เปรียบลำดับการเสิร์ฟซูชิของคุณปู่ Jiro เป็นเหมือนการแสดงดนตรี 3 ช่วง เห็นแต่ละเมนูแล้วน่าทานจริงๆ ครับ ปั้นเสร็จคนปั้นจะยืนประจันหน้ากับคนกิน เล่นเอาหลายคนเกร็งเมื่อมาทานร้านนี้
เด็กในร้านที่ต้องฝึกอย่างหนัก ชอบฉากทอดไข่หวาน กว่าจะผ่านได้ ต้องฝึกกันเนิ่นนาน เมื่อผ่านแล้วเล่นเอาผู้ถูกฝึกน้ำตายไหล
คนเลือกปลาที่ค้าขายกับ Jiro มานานและเป็นยอดฝีมือที่เขาเลือกไว้เป็นพันธมิตร
คนขายข้าวสารที่ไม่ยอมขายใครนอกจาก Jiro เขาบอกคนจะซื้อว่าคุณจะซื้อไปทำไม ในเมื่อคุณหุงไม่เป็น Jiro เท่านั้นที่หุงข้าวสารนี้เป็น
และมีอีกหลายคนที่เข้ามาเล่าเรื่องชีวิตของ Jiro Ono
แม้ร้านนี้จะใช้ปลาเป็นวัตถุดิบหลัก แต่ Jiro ก็อยากให้ผู้เกี่ยวข้องดูแลการจับปลา อย่าให้จับปลาตัวเล็กมา เพราะระยะยาวหากปลาลดจำนวนลง ซูชิก็อยู่ไม่ได้ เราทั้งหลายพึ่งพากันครับ
ชอบอีกประเด็นที่เขาบอกว่าลำพังเขาไม่สามารถทำให้ร้านประสบความสำเร็จได้ แต่ต้องมีทีมงานครบถึงจะไปได้
ดังรูปนี้ครับ
ชอบจริงๆ เลย ฉากนี้
นับว่าเป็นสารคดีที่ได้แง่คิดเป็นอย่างมาก
คำว่า "รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล" แสดงให้เห็นชัดในเรื่องนี้
จะมีวันนี้ไม่ได้หากขาดความรักในงานที่ทำ
ถ้าไม่รักก็คงลำบากที่จะเป็นตำนานได้เหมือนร้านนี้ เพราะต้องอยู่กับมันทั้งวัน เป็นเวลาเนิ่นนาน
ทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ แล้วจะเกิดความเคยชิน และสักวันมองออกแล้วก็เกิดปัญญาสร้างแนวทางของตัวเองออกมาได้
ช่างเหมือนการปฏิบัติธรรมเสียนี่กระไร
การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ท่านพุทธทาสเคยสอนไว้
Jiro Ono น่าจะบรรลุธรรมจากการปั้นซูชินี่เอง
หนังเรื่องนี้น่าจะเหมาะกับคนที่บ่นเรื่องงานที่ทำ
ตอนเปิดเรื่องก็ถามถึงงานที่คุณทำ ว่าคุณรักงานที่คุณทำไหม?
ไม่รู้คุณ Jiro รักงานที่ทำตั้งแต่แรกหรือเปล่า แต่ความมุ่งมั่น ตั้งใจ และสม่ำเสมอ ทำให้เขามาถึงจุดนี้ได้
ความเพียรเท่านั้นที่จะช่วยเราก้าวข้ามความทุกข์ไปได้
มีความสุขทุกคนครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น