วันเสาร์ที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว

เกษตรกรรมนำสู่นิพพาน




ผู้เขียน : มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ
ผู้แปล : รสนา โตสิตระกูล
สำนักพิมพ์ : มูลนิธิโกมลคีมทอง
จำนวนหน้า : 224 หน้า
ราคา : 200 บาท
ระดับความชอบ : 9.5/10

เป็นหนังสือที่อยู่ใน Waiting List มานานพอสมควร พยายามหามาตลอด จนได้เจอครั้งแรกที่ร้านเล่า ณ เชียงใหม่
แต่ครั้งนั้นไม่ได้ซื้อ เพราะยังรับไม่ได้กับการซื้อหนังสือเต็มราคา และกำลังทะเลาะกับเพื่อนที่ไปด้วย
ครั้งต่อมาที่ได้ไปเยือนร้านเล่าแบบ ชิล ชิล เวลาเหลือเฟือ ทำใจเรื่องราคาหนังสือมาแล้ว
แล้วหนังสือเล่มนี้ก็มาอยู่ในมือ พร้อมด้วยหนังสือเล่มอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง
วันนั้นสอบถามคนขายถึงเล่มโน้นเล่มนี้ เธอก็ไปหยิบและแนะนำเป็นอย่างดี
ชอบตอนที่ถามถึงเล่ม หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว คนขายบอกว่าลองหาหนังสือมือสองดีกว่าไหมพี่ ถูกกว่ากันเยอะเลย จริงใจดีครับ
สาเหตุสำคัญอีกอย่างที่สนใจหนังสือเล่มนี้เพราะชื่อของผู้แปลครับ เธอเป็นคนดีในดวงใจผมเสมอมา

ในเล่มนี้ผู้เขียนบอกเล่าเรื่องราวการทำการเกษตรธรรมชาติซึ่งไม่ใช่แค่ไม่ใช้ยาปราบศัตรูพืชหรือสารเคมีเท่านั้น แต่รวมไปถึงการไม่ไถพลิกดินด้วย เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จก็เอาฟางที่ไม่ได้สับปูบนผืนนาเพื่อทำปุ๋ยไปเลย
การทำแบบนี้ทำให้เกษตรกรมีเวลาว่าง และเมื่อถึงจุดสมดุลผลผลิตก็ไม่ต่างจากการเกษตรแบบปัจจุบันที่ไถพลิกดินและใช้สารเคมี ทุกอย่างผู้เขียนทำด้วยตนเองเป็นการพิสูจน์

คุณฟูกูโอกะเคยเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับพืชมาก่อน และได้นำประสบการณ์ช่วงนั้นมาปรับใช้กับเกษตรธรรมชาติที่เขามาทดลองทำเอง

แนวคิดของการทำการเกษตรของผู้เขียน เกษตรกรต้องมีเวลาว่างหาความสุข มีเวลาเขียนกาพย์กลอน วาดรูป ไม่ใช่ต้องมาคร่ำเคร่งตลอดทั้งปี
ปัญหาเกิดจากการพัฒนาไปสู่ทุนนิยม ทำให้ต้องลดจำนวนของเกษตรกร เลยต้องทำให้ผลผลิตของเกษตรกรต่อคนสูงขึ้น จึงต้องทำนาปีละหลายครั้งขึ้นและใช้สารเคมีเข้าช่วย
ต้องถือเป็นความผิดพลาดในการพัฒนาประเทศหรือของโลกเลยทีเดียว

คุณฟูกูโอกะบอกอีกว่าให้ปลูกในสิ่งที่เราจะเอามากิน ที่เหลือค่อยนำไปขาย ไม่ใช่ปลูกเพื่อไปขายแล้วค่อยมาซื้อกิน
เหมือนกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงเลย

ในเกษตรธรรมชาติ ธรรมชาติจะควบคุมศัตรูพืชกันเอง และจะเกิดสมดุล

อาหารคือชีวิต และชีวิตต้องไม่เดินถอยห่างจากธรรมชาติ 
อย่ากินอาหารด้วยสมอง 
ให้กำจัดจิตที่แบ่งแยกออกมาจากธรรมชาติ
อาหารต้องอิงตามที่มีอยู่ในฤดูกาลต่างๆ การปลูกพืชนอกฤดูกาลเป็นการฝืนธรรมชาติ
หลักโภชนาการที่นำมาจากตะวันตกทำให้ต้องตุนอาหาร และต้องมีอาหารหลายชนิดตลอดปี ซึ่งตามธรรมชาติเป็นไปไม่ได้ เช่น เนื้อสัตว์
ดังนั้นเราควรดูก่อนว่าในแต่ละฤดูกาลปลูกอะไรได้บ้าง แล้วค่อยวางแผนบริโภค
ผู้เขียนมีผังอาหารตามฤดูกาลให้ และบอกอีกว่าหากไปศึกษาแล้วต่างจากนี้ ก็ให้ใช้สิ่งที่ตนศึกษาเป็นสรณะ
ไม่ให้ยึดติดอีกต่างหาก เยี่ยมจริงๆ

ผู้เขียนยกตัวอย่างการเลี้ยงไก่แบบปล่อย การปลูกผลไม้แบบธรรมชาติ จะให้ผลผลิตที่อร่อยกว่า ไข่แดงของไข่ไก่จะแดงกว่า

ผู้เขียนตั้งคำถามในตอนท้ายเล่ม ในแนวนี้
ทำไมต้องเติบโต? เติบโต 0% แต่มีของกินจะเป็นอะไร?
ทำไมต้องใช้สารเคมี?
ทำไมต้องทำนาปีละ 3 ครั้ง? 

มีการพูดถึงนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามอธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ ของธรรมชาติ
เขาบอกว่า บทบาทของนักวิทยาศาสตร์เหมือนเป็นผู้แบ่งแยกจิตของคุณออกจากธรรมชาติ

ที่ปกหลังเขียนไว้ว่า
ฟูกูโอกะเชื่อว่าเกษตรกรรมธรรมชาติสืบสายมาจากสภาวะแห่งความไพบูลย์ทางจิตวิญญาณของปัจเจกบุคคล เขาถือว่าการบำรุงรักษาผืนแผ่นดินและการชำระจิตใจของมนุษย์ให้บริสุทธิ์เป็นกระบวนการเดียวกัน
เขากล่าวว่า "เป้าหมายสูงสุดของเกษตรกรรมไม่ใช่การเพาะปลูกพืชผล แต่คือการบ่มเพาะความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์" และด้วยเหตุที่เราไม่อาจแยกด้านใดด้านหนึ่งของชีวิตออกจากด้านอื่นๆ เมื่อเราเปลี่ยนแปลงลักษณะอาหาร เปลี่ยนแปลงลักษณะสังคม และเปลี่ยนแปลงค่านิยมของเราไปด้วย 


ดังนั้นหากเราเปลี่ยนแปลงธรรมชาติน้อยที่สุด เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ธรรมชาติก็ไม่กระทบและไม่เปลี่ยนแปลง จิตวิญญาณเราก็จะเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
เมื่อธรรมะคือธรรมชาติ
การทำเกษตรธรรมชาติก็คือการปฏิบัติธรรม และเป็นหนทางไปสู่การหลุดพ้นนั่นเอง


ไม่ใช่แค่ทำการเกษตร แต่เป็นทางสายเอกสู่นิพพาน
ยิ่งใหญ่จริงๆ ครับคุณฟูกูโอกะ


มีความสุขทุกคนครับ

วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

Swing Girls

เมื่อเด็กไม่เอาไหนจะเล่น Jazz



กำกับ : Shinobu Yaguchi
นำแสดง : Juri Ueno, Yûta Hiraoka, Shihori Kanjiya
ความยาว : 105 นาที
ระดับความชอบ : 8.25/10

อยากชมหนังเรื่องนี้เพราะเพื่อนใน Blog ชื่นชมไว้ เมื่อเห็นในร้านขาย DVD เลยเอามาชมเสียหน่อย

หนังเป็นเรื่องราวของนักเรียนผู้หญิงมัธยมปลายที่สอบตก และต้องมาเรียนซ่อมตอนปิดเทอม 
ในช่วงนั้นวงดุริยางค์จะต้องไปแข่งในต่างถิ่นแต่ลืมอาหารกลางวัน เด็กๆ ในห้องเรียนเลยอาสาไปส่งให้เพื่อนๆ แล้วเรื่องราววุ่นๆ ก็เกิดขึ้น สุดท้ายเพื่อนๆ ในวงดุริยางค์ท้องเสียกันหมดเลย
กลุ่มนักเรียนที่ไปส่งข้าวห่อเลยพยายามจะมาทำหน้าที่แทน


นางเอกเป็นเด็กไม่เอาไหน ทำอะไรก็ไม่ทำจริงจังสักที จนมาเล่นดนตรี เปลี่ยนแนวดนตรีที่จะเล่นจนมาเจอ Swing Jazz 
แล้วเธอก็ข้ามพ้นความไม่เอาจริงด้วยดนตรี


หนังเดาทางได้ไม่ยาก แต่เมื่อเป็นหนังญี่ปุ่นเลยจะออกไปทางน่ารัก ได้เห็นบรรยากาศท้องทุ่งในฉากส่งข้าวเที่ยง เห็นการเล่นดนตรีตามที่ต่างๆ เห็นครอบครัวของคนญี่ปุ่น เห็นโรงเรียน ห้องฝึกซ้อมดนตรี 
ดูแล้วอบอุ่นดีครับ


ผมว่าวัยมัธยมนี่สำคัญและอยู่ในความทรงจำดีนะครับ โดยเฉพาะมัธยมปลาย
เพื่อนที่สนิทที่สุดก็คือเพื่อนในช่วงมัธยมปลาย คงเพราะยังเป็นเด็กและยังไม่มีหน้ากากอะไรมาใส่กันมาก ใสๆ จริงใจ เลยประทับใจกันจนถึงวันนี้
ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็คิดถึงชีวิตวัยนั้น ที่สดใส ร่าเริง จินตนาการไปได้เรื่อย


ด้วยในวัยที่เป็นพ่อก็คงต้องเอาหนังแนวนี้ไว้เตือนตัวเองว่า วัยแบบนี้ก็เป็นแบบนี้แหละ เขาจะมีอิสระ ต้องคอยตามดูห่างๆ ทำให้เขาไว้ใจที่จะเล่าให้เราฟังในเรื่องต่างๆ แล้วอย่าไปปิดกั้นเขา ลองนึกถึงเราในวัยนี้ คงไม่ชอบหากใครมาขวางสิ่งที่เราคิด ลูกเราก็เหมือนกันครับ
เพราะพ่อแม่ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า สุดท้ายเขาก็ต้องคิดเอง


ดูแล้วสดใส มีความสุข เพลงก็สนุกสนานตามแนว Swing Jazz


หามาดูจะได้รู้ชีวิตวัยรุ่น
ที่เราก็เคยผ่าน แต่อาจลืมไป


มีความสุขทุกคนครับ

วันจันทร์ที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

50/50

ครึ่งๆ




กำกับ : Jonathan Levine
เขียนบท : Will Reiser
นำแสดง : Joseph Gordon-Levitt, Seth Rogen, Anna Kendrick
ความยาว : 100 นาที
ระดับความชอบ : 9.25/10

เห็นหลายคนพูดถึง ตอนแรกก็ไม่สนใจ บ่อยเข้าๆ เลยชักสนใจ สุดท้ายเข้าไปดูคะแนน สูงทีเดียว
ก็เลยตัดสินใจไปชม เหลือแต่ที่ House Rama ที่เดียว

ชวนน้องสาวที่มาจากต่างจังหวัดไปดูด้วยกัน
หนังดูคึกคัก เพลงประกอบก็เร้าใจดี
บทพูดเยอะทีเดียว

พระเอกทำงานด้านสารคดีแผนกเสียง มีแฟนเป็นนักวาดรูป มีเพื่อนสนิทที่ทำงานเดียวกันที่ปากไม่ค่อยดี โฉ่งฉ่าง แต่รักจริง
ส่วนแฟนสาวที่อยู่ด้วยกันเอาใจออกห่างแล้วสุดท้ายก็ปันใจเพื่อความก้าวหน้าในงาน
ก็ได้เจ้าเพื่อนปากเสียนี่แหละที่ช่วยทำลายรูปวาดเพื่อลืมเธอ
ชอบฉากพระเอกหิ้วเพื่อนมาส่ง แล้วแอบเห็นหนังสือที่เพื่อนอ่านแล้วอึ้ง เพราะทั้งพับและขีดเน้นคำ
เล่มที่อ่านคือการรักษาโรคมะเร็ง

พระเอกเป็นมะเร็งที่กระดูกสันหลังชนิดที่รักษายาก แม้แต่ชื่อโรคยังเรียกยากเลย
หนังมีอารมณ์ขันเป็นระยะๆ และเศร้าแบบหนังชีวิตเป็นสัดส่วน 50/50
เมื่อทราบผลพระเอกก็บอกทุกคน คนที่บอกเป็นเรื่องเป็นราวที่สุดคือคุณแม่ เพราะพระเอกเห็นว่าคุณแม่มักจะตกใจแล้วจะโวยวายกับเรื่องต่างๆ อีกอย่างเธอต้องดูแลสามี (พ่อพระเอก) ที่เป็นโรคความจำเสื่อม
เมื่อเธอบอกว่าจะมาดูแลที่บ้านพระเอก เขาก็เลยปฏิเสธ โดยผู้ที่รับอาสาดูแลคือแฟนสาว

พระเอกขับรถไม่เป็น แฟนเลยต้องไปส่งทำเคมีบำบัด แต่ไม่เธอไม่เข้าโรงพยาบาลด้วยโดยให้เหตุผลว่ากลัวภาพในโรงพยาบาลจะทำลายจินตนาการในการวาดรูปของเธอ
พระเอกจึงใช้วิธีโทร.เรียกเมื่อทำคีโมเสร็จ
ครั้งหลังๆ จะมีการมารับช้ามาก แต่พระเอกก็รับได้

ในห้องคีโมจะมีเพื่อนที่ต้องมาบำบัดด้วยกัน 2 คน ซึ่งล้วนสูงอายุ บทสนทนากันระหว่าง 3 คน เป็นธรรมชาติดีมากครับ ปูเรื่องได้ดี ฉากพระเอกและเพื่อนไปเยี่ยมบ้านของเพื่อนผู้สูงวัย ดูเขามีความสุขและอาการดูดีขึ้น แต่เขาก็ตายในเวลาต่อมา

ในช่วงที่เข้าทำเคมีบำบัด พระเอกต้องไปพบจิตแพทย์มือใหม่ สุดท้ายก็ผลัดกันรักษาแบบ 50/50
ชอบมุกจิตแพทย์ที่เพิ่งเลิกกับแฟน แล้วยังวนเวียนเข้าไปดูใน Facebook ของแฟนเก่า เพื่อดูความเคลื่อนไหวของเขา จะว่าไปหลายคนก็คงเป็นแบบนี้นะในปัจจุบัน

ภาพในใบปะหนังเป็นฉากที่พระเอกเอาบัตตาเลี่ยนโกนหัว ยังไม่วายมีมุกตลกมากมายในฉากนี้
หนังเรื่องนี้จะให้น้ำหนักระหว่างหนังชีวิตกับหนังตลกในระดับ 50/50

สุดท้ายคนที่มาดูแลคือคุณแม่ ประโยคที่พระเอกถาม “ทำไมผมไม่รู้ว่าแม่เข้ากลุ่มบำบัด?” “ก็ลูกไม่เคยโทรกลับเลย” แม่ตอบ ทำเอาสะอึกกันไปเลยครับ
ฉากร่ำลาพ่อ แม่ และเพื่อนก่อนเข้าไปผ่าตัด เรียกน้ำตาคนที่นั่งข้างๆ ผมไปเสียยกใหญ่ ไม่ใช่น้องสาวผมนะครับ แต่เป็นใครไม่รู้ จากอาการสะเอื้อน เธอร้องไห้ครับ เล่นเอาผมตารื้นไปเหมือนกัน
แต่ผมกลับชอบประโยคของเพื่อนรัก “ทำไมหมอไม่พูดประโยคหลังนี่ก่อน” เมื่อหมอแจ้งออกมาแจ้งว่าพระเอกปลอดภัย

หนังเรื่องนี้แข็งแรงในแนวคิด 50/50
คนเราไม่มีอะไรเป็น 100/0 หรอกครับ
คนรักเรา คนเกลียดเรา ก็มีประมาณ 50/50
ความสุขกับความทุกข์ก็ประมาณ 50/50
ข่าวดีกับข่าวร้าย ก็ 50/50
ยิ่งทบทวน ก็ยิ่งชอบหนังเรื่องนี้ครับ เล่นกับสัดส่วน 50/50 ได้ลงตัวจริงๆ

ไม่มีอะไรแน่นอนหรอกครับชีวิตนี้
มันแค่ 50/50 เท่านั้นเอง
ดังนั้นไม่ต้องยึดติดครับ เพราะยังเหลืออีกตั้งครึ่ง

มีความสุขทุกคนครับ

วันศุกร์ที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

Never Let Me Go

คนไม่มีสิทธิ์



กำกับ : Mark Romanek
เขียนบท : Kazuo Ishiguro (novel), Alex Garland (screenplay)
นำแสดง : Keira Knightley, Carey Mulligan, Andrew Garfield
ความยาว : 103 นาที
ระดับความชอบ : 9.25/10

เป็นหนังที่หลายคนกล่าวถึง เมื่อได้ดูก็ขอชื่นชมใน Plot เรื่อง คิดได้เก่งมาก

เปิดตัวที่นางเอกกำลังมองผู้ชายคนหนึ่งที่กำลังจะเข้าห้องผ่าตัด พร้อมทั้งบรรยายหน้าที่ของเธอ อายุ แล้วก็ตัดภาพไปในวัยเด็กของเธอและเพื่อนรักอีก 2 คน

ณ โรงเรียนประจำเฮลแชมในปี 1978 เรื่องราวของเด็กหญิงสองคนและเด็กชายเกิดขึ้นที่นี่
คงเหมือนโรงเรียนประจำทั่วไปที่มีกฎระเบียบเข้ม เรื่องราวความรักของสองหญิงหนึ่งชายก็เกิดขึ้น
ชายชอบอีกคน แต่สุดท้ายผู้หญิงอีกคนมาแย่งไปเสีย Plot จะไม่มีอะไรเลยหากไม่ได้เกิดในโรงเรียนของคนที่ถูก Cloning และทุกคนจะต้องค่อยๆ สละอวัยวะเพื่อเอาไปช่วยชีวิตมนุษย์ ทีละชิ้นๆ จนสุดท้ายทุกคนก็ตาย
ที่โหดร้ายกว่านั้นคือพวกเขาและเธอจะพบรักกันไปก็เปล่าประโยชน์ เพราะสุดท้ายก็ต้องตายจากกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
อีกเรื่องที่คนเหล่านี้อยากรู้คือพวกเขาและเธอ Cloning มาจากใคร? ซึ่งคงได้แต่อยากรู้ ถึงหาตัวเจอก็ไม่มีประโยชน์


ชื่อหนังมาจากประโยคหลักของเพลงที่พระเอกมอบให้นางเอก เพลงนี้ไพเราะดีเหลือเกิน
ดนตรีประกอบของหนังเรื่องนี้ดึงอารมณ์ได้ดีมากในทุกฉากทุกตอน
ภาพในอดีตทำได้สวยและสมจริงดี เหมือนมีเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในอดีต


ช่างเป็นชีวิตที่น่าสงสาร เพราะทุกคนมีเลือดเนื้อ จิตใจ แต่เลือกแนวทางชีวิตไม่ได้เลย

หากวิทยาการออกมาในรูปนี้จริง ก็น่าคิดนะ
เพราะจะมีมนุษย์อีกพวกหนึ่งที่จะโดนทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจตลอดเวลา 

Plot เรื่องแหวกแนว เดินเรื่องดี ดนตรีไพเราะ ลองหาหนังเรื่องนี้มาชมครับ

เพื่อการมีชีวิตยืนยาวของมนุษย์ เราต้องทำขนาดนี้เชียวหรือ?

มีความสุขทุกคนครับ