วันจันทร์ที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

The LAST LECTURE : บทบันทึกก่อนจากไป



ผู้เขียน : Randy Pausch with Jeffery Zaslow
ผู้แปล : หนูดี วนิษา เรซ
สำนักพิมพ์ : อมรินทร์
จำนวนหน้า : ๒๒๓ หน้า
ราคา : ๑๗๕ บาท
ระดับความชอบ : ๘.๕/๑๐

เป็นหนังสือขายดีในงานสัปดาห์หนังสือ ฉบับที่อ่านพิมพ์ครั้งที่ ๙ ภายในเดือนตุลาคม ๒๕๕๑ เดือนเดียว
เป็นเรื่องของ Randy Pausch ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน ที่กำลังจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในตับอ่อน เมื่อเขารู้ก็เกิดการเตรียมตัว เริ่มจากย้ายครอบครัวคือภรรยาและลูก ๓ คนไปอยู่ใกล้ครอบครัวของเธอ และรับการบรรยายครั้งสุดท้าย ที่มหาวิทยาลัย

เท่าที่ได้รับทราบการบรรยายครั้งสุดท้ายที่หลายคนมักพูดถึงคือของ บิล เกตส์, สตีป จ็อบ และ เจ. เค. โรว์ลิ่ง แต่ทั้งสามคนบรรยายที่มหาวิทยาลัย Harvard

ส่วนของ Randy Pausch บรรยายในมหาวิทยาลัยที่เขาสอน และเป็นการบรรยายครั้งสุดท้ายจริงๆ เพราะเขากำลังจะเสียชีวิต และหัวข้อที่เขาเลือกบรรยายชื่อ ทำความฝันในวัยเด็กของคุณให้เป็นจริงได้อย่างแท้จริง
สำหรับความฝันของ Randy Pausch ในวัยเด็กมี ๖ ข้อ จากนั้นเขาก็บรรยายถึง ๖ ข้อนี้ ฝันเป็นจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ความฝันจะยุ่งเกี่ยวกับ Walt Disney และ อเมริกันฟุตบอล

แล้วคุณล่ะครับ เคยฝันอะไรไว้ในวัยเด็กบ้างไหม? ทำได้แค่ไหนกันแล้วครับ

จากการบรรยายครั้งสุดท้ายนี้ Randy Pausch เลยต่อยอดด้วยการเล่าแนวคิด การใช้ชีวิต ประวัติของตัวเองโดยให้ Jeffery Zaslow เป็นผู้เรียบเรียงให้ โดย Randy จะพูดให้ฟังขณะออกกำลังกาย

บทที่พูดถึงพ่อแม่ จะเห็นได้ว่าพ่อแม่ของ Randy เปิดโอกาสให้ลูกทำในเรื่องที่ฝันอย่างเต็มที่ เขายกตัวอย่างตอนที่จะวาดรูปต่างๆ ในห้องนอน พ่อเขาฟังเหตุผล แล้วอนุญาตเสียด้วย ยอดเยี่ยมครับ

คนรอบตัวอื่นๆ ที่เขาพูดถึงคือ ภรรยา ลูก และผู้ร่วมงาน ก็เป็นบันทึกถึงคนเหล่านั้นได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะลูกๆ ที่ยังเล็ก Randy ก็กะว่าจะเอาบันทึกเล่มนี้ไว้ให้ลูกอ่านตัวตนของผู้เป็นพ่อ

บท แรงใจจากผู้คน ก็ดีครับ จะได้เห็นว่ากำลังใจสำคัญนักสำหรับการเดินผ่านเรื่องต่างๆ ไปได้

หลายเรื่องเป็นแนวคิดที่คุ้นเคย แต่เมื่อรู้ว่าคนที่สื่อสารเป็นผู้ใกล้ตาย เรื่องเลยทรงพลังมากขึ้น นึกง่ายๆ หากเรารู้ว่าเรากำลังจะตาย เราจะทำอะไร เราเตรียมพร้อมไว้ดีหรือยัง คนข้างหลังจะคิดถึงเราอย่างไร

มีมุกจากที่อบรม 7 Habits คือให้เราคิดว่าหากเราตาย เราอยากให้คนที่จะมากล่าวในงานศพเรา พูดถึงเราอย่างไร ทีละคน หากคิดว่าเราดีกับคนเหล่านั้นไม่พอ เริ่มแก้ไขเสียแต่วันนี้

อีกมุกจากทิเบต ให้ล้างจานก่อนนอน ตอนล้างก็พิจารณาว่าหากเราเสียชีวิตคืนนี้ คือนอนไม่ตื่น เราได้เตรียมเรื่องต่างๆ พร้อมหรือยัง ยังขาดอะไรบ้าง มุกนี้มาจากเล่ม ภูมิคุ้มใจ ครับ

การขอบคุณผู้อื่นเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่งครับ ในเล่มนี้ก็พูดไว้ด้วย ผมมักจะท่องคำดีๆ ๕ คำ
สวัสดี ขอโทษ ไม่เป็นไร ขอบใจ ขอบคุณ
ท่องมานานตั้งแต่เด็กเลยครับ หาทางใช้บ่อยๆ เลย

ทั้งหลายทั้งปวงเรียกว่า มรณสติ นั่นคือให้นึกถึงความตาย แล้วเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ

พระอาจารย์วิชัย จากภาคเหนือ เคยเทศนาไว้ว่า ให้เตรียมวีซ่าให้พร้อมเดินทางเสมอ

อีก ๒ เล่มที่พูดในแนวมรณสติ คือ นั่งคุยกับความตาย ของ เชิด ทรงศรี และ Tuesdays with Morrie

พึงสังวรณ์ ทุกคนต้องตาย ดังนั้นดีกับคนรอบข้างให้เยอะที่สุด เดี๋ยวก็ตายจากกันแล้ว
อยากให้เขานึกถึงเราอย่างไร เมื่อเราจากไป เราก็ทำตัวแบบนั้นแหละครับ

Website หาข้อมูลเพิ่มเติม http://www.thelastlecture.com ที่นี่จะมีบันทึกการบรรยายครั้งสุดท้ายให้ชมด้วย
อีกเวบเป็นโปรแกรมที่ทีมงานของ Randy พัฒนามาคือ http://www.alice.org
เข้าไปชม เจอคำคมๆ อีก
We cannot change the cards we are dealt, just how we play the hand.
—Randy Pausch
ถ้าเป็น 7 Habits จะตรงกับอุปนิสัยที่ ๑ : Be Proactive พร้อมที่จะเผชิญเรื่องต่างๆ อย่างมีสติ

หนังสือดี อ่านได้เรื่อยๆ ได้แนวคิดในการดำเนินชีวิต ต้องชื่นชมคนบันทึก Jeffery Zaslow ที่ถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือได้อย่าสละสลวย หลังๆ คนดังๆ ใช้วิธีนี้เยอะครับ ไม่ต้องเขียนเอง พูดให้คนที่มีทักษะด้านนี้ดีๆ เขียนแทน

รักกันมากๆ นะครับ ชีวิตนี้ช่างน้อยนัก แต่สำคัญนัก เพราะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะเกิดเป็นอะไรต่อในชาติหน้า

บุญรักษาครับ

-------------------------------------------------------------------

เชิญแวะร้านค้าออนไลน์ของผมครับ


Books
Toys & Games
DVD

วันจันทร์ที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

The Interpreter : ตัวอย่างของการให้อภัย


ผู้กำกับ : Sydney Pollack (เสียชีวิตแล้วปี ๒๐๐๘ เคยกำกับ The Firm)
นำแสดง : Nicole Kidman, Sean Penn
ระดับความชอบ : ๘/๑๐

ได้อ่านเจอจากหนังสือ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจฉบับรวมเล่มที่ ๑๑
หนุ่มเมืองจันท์พูดถึงเรื่องนี้ในแง่การให้อภัยที่ยิ่งใหญ่ โดยมีประเทศมาโทโบ (ประเทศสมมติ) ออกกฏหมายให้ฆาตกรที่ฆ่าคนจะถูกจำคุก ๑ ปี จากนั้นจะถูกมัดมือถ่วงน้ำ ญาติคนที่ถูกฆาตกรรมเท่านั้นที่สามารถกระโดดลงไปช่วยแก้มัดเพื่อช่วยชีวิตได้ เป็นการปลดล็อคหัวใจ ให้อภัยครั้งยิ่งใหญ่ แต่ต้องเว้นช่วงเหตุการณ์ ๑ ปี เพื่อให้ทบทวนอย่างละเอียด โดยไม่มีอารมณ์มาเคลือบแคลง

นางเอกเล่าพระเอกในประเด็นนี้ และตบท้ายในกรณีที่ญาติๆ ปล่อยให้ฆาตกรจมน้ำตาย เธอบอกว่า ยุติธรรม แต่ติดใจไปตลอดชีวิต
หากช่วยชีวิตฆาตกร หมายถึงไม่ยุติธรรม แต่ได้ปลดล็อคหัวใจ ให้อภัยที่ยิ่งใหญ่ ทำให้จิตใจสงบ สบายอย่างแน่นอน
คมมากครับแนวคิดนี้

มีอะไรจะยิ่งใหญ่กว่าการให้อภัยล่ะครับ โดยเฉพาะในเรื่องใหญ่ๆ แบบนี้

ประเด็นให้อภัยมีในหนัง The Last Samurai ด้วย พระเอกฆ่าสามี แต่ภรรยาต้องมาดูแลฆาตกร เพื่อปลดล็อคความแค้น ให้อภัยให้ได้

อย่าลืมให้อภัยบ่อยๆ นะครับ ต้องมีเมตตาก่อน ถึงจะให้อภัยได้

นางเอกทำงานตามชื่อเรื่อง จริงๆ คืองานแปลเข้าหูฟังในขณะที่คนปาฐกถาใช้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ในสหประชาชาติ แต่แทนที่จะเรียก Translator เขาเรียกว่า Interpreter
พอเป็นคำนี้ ก็เลยเอามาใช้ได้ลึกเลย เพราะเธอต้องเอาแนวคิดของชาวมาโทโบมาใช้ จะให้อภัย แล้วใจสบาย หรือแก้แค้น เธอต้องเลือกครับ
ไปดูกันเองนะครับว่าเธอเลือกแบบไหน เพราะฆาตกรคนนั้นฆ่าคนในครอบครัวเธอทุกคนเลย

Tagline บนปก The truth needs no translation.

นี่ถ้าดูเผินๆ จะชอบหนังเรื่องนี้น้อยกว่านี้ครับ เพราะไม่ใช่แนวที่โปรดปราน
แต่เพราะอ่านมาก่อน เลยสังเกตประเด็นการให้อภัย และการ Interpret ของนางเอก ช่างเป็นการตั้งชื่อเรื่องได้อย่างชาญฉลาด

ดารานำสองคนแสดงดีมาก นางเอกก็สวยเชียวเรื่องนี้ ส่วนพระเอกยอดเยี่ยมครับ ไม่เคยดูเรื่องไหนที่ Sean Penn เล่นไม่ดีเลยครับ ยอดดาราชายคนหนึ่งเลย

อยากหาตัวอย่างการให้อภัยที่ยิ่งใหญ่มาดู เรื่องนี้เลยครับ
แล้วจะรู้ว่าเรื่องที่เรายังลังเลที่จะให้อภัย ช่างเล็กเหลือเกิน

อย่าลืมให้อภัยบ่อยๆ โดยเฉพาะการให้อภัยตนเองครับ

มีความสุขทุกคนครับ

Link ที่เกี่ยวข้อง : ปัญญาญาณแห่งการให้อภัย